Psychosis_Children_Depression

พ่อแม่หลายท่านมักจะกังวลว่าเมื่อลูกเราโตขึ้นจนกระทั่งเริ่มเข้าสู่วัยเรียน อาจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคม การใช้ชีวิตของลูกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งลูกๆ อาจพบความเครียดจนกระทั่งความเครียดสะสม มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด ก็ทำให้พ่อแม่กังวลใจไม่น้อย
ด้วยความเข้าใจในความวิตกนี้ พญ. กมลวิสาข์  เตชะพูลผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงอยากบอกถึงเรื่องโรคซึมเศร้า เพื่อให้พ่อแม่สามารถสังเกตลูกตัวเองได้ เป็นการรับมือให้ทันกับอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของลูก

ลูกแค่เศร้า…หรือเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า” กันแน่!

โรคซึมเศร้า (depression)  เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่อารมณ์ซึมเศร้าจะมีมากกว่าปกติ คือมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันเกือบทั้งวัน ติดต่อกันทุกวันนานเกิน  2 สัปดาห์

โดยเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า…จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอารมณ์ที่ซึมเศร้าลง เบื่อหน่ายมากขึ้น หรือบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิด
  • ไม่มีความสุขความเพลิดเพลินเมื่อทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง หรือในขณะที่บางรายก็ทานอาหารมากเกินไป
  • นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ ในขณะที่บางรายนอนทั้งวัน
  • เฉื่อยชา
  • ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำแย่ลง
  • รู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า
  • อยากฆ่าตัวตาย

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก มักประกอบไปด้วย

ทางชีวภาพ เกิดจาก

  • พันธุกรรม ถ้ามีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มากกว่าเด็กทั่วไป
  • ยาบางชนิดสามารถทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาลดความดัน สารเสพติด เป็นต้น
  • โรคบางชนิด เช่นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นต้น

ทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  
ประกอบไปด้วย ความเครียด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในครอบครัว  การทะเลาะกับแฟน ผลการเรียนตกต่ำ การคบเพื่อน ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอ ๆ หรือรู้สึกไม่ชอบ กลัว กังวล กับบุคคลรอบข้าง หรือ เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง กลัวการแข่งขัน

พ่อ แม่ ควรสังเกตอาการลูกด้วยตนเอง..ก่อนสายเกินแก้

  • เด็กเริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูดเหมือนก่อน
  • เศร้า ร้องไห้ หงุดหงิดง่าย ทำอะไรก็ผิดหูผิดตา หงุดหงิดไปซะหมด
  • ไม่ชอบทำกิจกรรมที่เคยชอบทำมาก่อน เช่นชอบวาดรูป แต่ตอนนี้ไม่ชอบแล้ว
  • ไม่อยากทำอะไรเลย นอนทั้งวัน แอบร้องไห้คนเดียว
  • บ่นอยากตาย

วิธีรับมือ…เมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า

  • พ่อแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูก สังเกตพฤติกรรม สอบถามอาการสารทุกข์สุกดิบ ถามถึงความสุขของลูก  เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่ลูกจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า
  • การทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไปทำกิจกรรมใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ๆ เพื่อให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้แย่ลงไปกว่าเดิม
  • พูดคุยกับลูกโดยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่นแก่ลูกอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด
  • คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก และเปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป