Psychosis_Children_Autistic

“เด็กออทิสติก” รู้เร็วฝึกพัฒนาการไว ใช้ชีวิตในสังคมได้

ภาวะออทิสซึม สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจากความผิดปกติของสมอง โดยสมองที่ผิดปกติทำให้เด็กแสดงความบกพร่องออกมา 3 ด้าน ได้แก่ ความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบกพร่องในการสื่อสาร และการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ

เด็กมักแสดงอาการให้เห็นชัดในช่วงอายุ 3 ปีแรก สำหรับความรุนแรงของภาวะนี้ มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีเพียงบุคลิก หรือการพูดจาแปลก ๆ ร่วมกับมีปัญหาการเรียน ไปจนถึงรุนแรงมาก เช่น มีพฤติกรรมผิดปกติชัดเจน ทำอะไรซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว และอาจถึงขั้นทำร้ายตนเอง ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรม ฝึกพัฒนาการ และดูแลใกล้ชิดโดยตลอด

สังเกตอาการลูกน้อยสงสัยภาวะออทิสติก (อายุตั้งแต่ 2 ขวบ)

  • เรียกชื่อไม่หัน
  • ไม่มองหน้าสบตา
  • ไม่รู้จักการแสดงออกทางสังคม เช่น ไหว้ โบกมือ
  • ไม่แสดงความรู้สึกทางสีหน้าท่าทาง เช่น กลัว ดีใจ เสียใจ
  • ไม่ชอบเข้าหาผู้อื่น ไม่สนใจพูดคุยกับผู้อื่น
  • ไม่ชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ หรือ ไม่เรียกชื่อสิ่งที่ต้องการ
  • ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
  • พูดด้วยสำเนียงแปลก ๆ
  • ชอบพูดทวนประโยคที่เคยได้ยินมา
  • เล่นสมมติไม่เป็น เช่น ป้อนตุ๊กตา ขับรถ ขายของ
  • ต้องมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้
  • มีท่าทางที่ชอบทำซ้ำ ๆ เช่น สะบัดมือ สะบัดนิ้ว โยกตัว

สาเหตุของการเกิดโรค

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งเรื่องของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้สมองผิดปกติทั้งโครงสร้างของการทำงาน โดยความผิดปกติส่วนใหญ่ เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ของแม่ เด็กบางคนแสดงให้เห็นอาการตั้งแต่แรกเกิด แต่บางคนอาจมีพัฒนาการในระยะแรกไม่ต่างจากเด็กทั่วไป จากนั้นอาการแสดงจึงค่อยปรากฎมากขึ้น

การช่วยเหลือ

หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะแม้ว่าภาวะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ให้ใกล้เคียงปกติและใช้ชีวิตในสังคมได้ การรักษาจะเน้นการปรับพฤติกรรมและฝึกพัฒนาการ เช่น ส่งเสริมพัฒนาการโดยการทำกิจกรรมบำบัด หรือการฝึกพูด ซึ่งพ่อแม่ควรร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด หรือนักวิชาชีพอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึง ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง ฝึกทักษะการเข้าสังคม แก้ไขพฤติกรรมซ้ำ ๆ และปรับการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะชักร่วมด้วย แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาร่วมด้วย