การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชเด็ก
เช่นเดียวกับหลักการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในผู้ใหญ่ โรคหรือความผิดปกติในทางจิตเวชเด็กตามเกณฑ์วินิจฉัยของระบบ DSM ยังคงถือลักษณะอาการแสดงเป็นสำคัญ เกณฑ์วินิจฉัยข้อต่างๆ ได้มาจากการวิจัย ซึ่งช่วยให้ ผู้ที่มิใช่จิตแพทย์เด็กโดยตรงสามารถเห็นภาพของลักษณะการแสดงออกของโรคที่เป็นจริงและมีความสำคัญทางคลินิก แต่ที่นอกเหนือไปกว่านั้นก็คือ
1) เด็กมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามวัย ดังนั้น บางอาการที่ถือว่า เป็นปกติของเด็กวัยหนึ่ง อาจถือว่า ผิดปกติ หากเกิดขึ้น หรือคงอยู่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกับเด็กอีกวัยหนึ่งก็ได้ เช่น อาการปัสสาวะรดที่นอนของเด็กอายุ 4 ปี กับอายุ 10 ปี ย่อมมีความสำคัญต่างกัน เกณฑ์การวินิจฉัยในเด็กจึงมักมีระดับอายุมาเป็นเกณฑ์ด้วยเสมอ
2) ในความผิดปกติชนิดเดียวกัน เช่น อาการกลัว (phobia) ในแต่ละวัยของเด็กจะมีลักษณะเด่นของอาการที่แสดงออกในวัยนั้นๆต่างๆ กันไปด้วย การศึกษาเรื่องพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะทางความคิดและอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
3) เด็กมีโอกาสมีโรคหรือความผิดปกติทางจิตเวชที่แม้ไม่ได้ถูกจัดเข้ากลุ่มของจิตเวชเด็กเกือบทุกโรค ไม่ว่าจะเป็น schizophrenia, mood disorders หรือ anxiety disorders ได้ทั้งสิ้น การจัดกลุ่มโรคทางจิตเวชเด็กขึ้นก็เพื่อเน้นว่า ความผิดปกติในกลุ่มนี้มักเริ่มพบอาการหรือถูกวินิจฉัยตั้งแต่เด็กเท่านั้น
4) ยังมีอาการอีกหลายอาการในเด็ก ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา แต่มิได้จัดไว้เป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิตเวชเด็ก เช่น infantile colics, temper tantrums เนื่องจาก ถือว่า เป็นเพียงความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมจากวัย มิได้เป็นโรค แต่ก็ต้องได้รับการเอาใจใส่แก้ไขเช่นกัน
ความผิดปกติทางจิตเวชเด็กตาม DSM IV
แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มยังมีชนิดโรคย่อยๆอีกหลายประการได้แก่
1) Mental Retardation หมายถึงการมีระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ต่ำกว่า 70 และทำให้ความสามารถในการดำรงชีวิตบกพร่องไป โดยเกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี แบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น mild, moderate, severe, และ profound
2) Learning Disorders คือความผิดปกติของสมองในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ อันได้แก่
– Reading disorder คือเด็กมีปัญหาในการอ่านให้เข้าใจ
– Mathematics disorder คือเด็กมีปัญหาในเรื่องคณิตศาสตร์
– Disorder of written expression คือ เด็กมีปัญหาในการเขียนแสดงสื่อความหมาย
3) Motor Skills Disorders มีความผิดปกติของการประสานงานของกล้ามเนื้อ
4) Communication Disorders มีความผิดปกติในด้านการสื่อสารไม่ว่าภาษาพูด หรือภาษามือ (sign language) ซึ่งอาจเป็นเพราะความผิดปกติในด้านการแสดงออก การรับและตีความหมาย การออกเสียง ติดอ่าง เป็นต้น
5) Pervasive Developmental Disorders คือความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน ได้แก่ การโต้ตอบเข้าใจภาษา การมีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดรอบข้าง และ การมีความคิดจินคนาการที่เหมาะตามวัย ซึ่งเด็กมักมาตรวจด้วยอาการไม่พูด ไม่ติดใคร ตัวอย่างเช่น autistic disorder, childhood disintegrative disorder หรือ Asperger’s syndrome เป็นต้น
6) Attention-Deficit and Disruptive Behavior Disorders แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยๆคือ
– Attention- deficit/hyperactivity disorder หรือโรคซนสมาธิสั้น
– Conduct disorder เด็กมีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล
– Oppositional defiant disorder เด็กมีอาการดื้อ ไม่เชื่อฟัง
7) Feeding and Eating Disorders of Infancy or Early Childhood ความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน เช่น pica ( กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารตามวัฒนธรรมนั้นๆ ) rumination disorder ( เคี้ยวกลืนแล้วขย้อนออก) หรือปัญหาในการป้อนอาหารจนเด็กไม่เติบโตตามเกณฑ์
8) Tic Disorders คือ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆอย่างไม่เป็นจังหวะ ( motor tics ) หรือการส่งเสียงหรือพูดคำต่างๆซ้ำๆ ( vocal tics )
9) Elimination Disorders คือความผิดปกติของการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
10) อื่นๆ ได้แก่
– Separation anxiety disorder ความกังวลต่อการต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด
– Selective mutism เด็กไม่ยอมพูดกับคนนอกครอบครัว แม้แต่ที่โรงเรียน
– Reactive attachment disorder of infancy or early childhood เด็กที่ขาดความรักผูกพันแต่เล็ก เช่นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง จนเกิดปัญหาเหม่อลอย ไม่สนใจคนอีกเลย หรือต้องสนิทกับคนแบบไม่เลือก
– Stereotype movement disorder พฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็ก เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ โขกศีรษะกับพื้น